ในการหาเงินก้อนโดยใช้ทรัพย์สินของตนเองเป็นหลักค้ำประกันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับเงินดังกล่าวมาใช้ตามความต้องการ ซึ่งรูปแบบของ “การขายฝาก” จึงมักเป็นอีกทางเลือกที่ได้รับความนิยม แต่ก่อนจะเริ่มดำเนินการดังกล่าวมาทำความรู้จักกันอย่างละเอียดเลยว่า การขายฝากคืออะไร มีข้อดีข้อเสียแบบไหนบ้าง รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในอนาคตของตนเอง
การขายฝาก คืออะไร
การขายฝาก คือ รูปแบบหนึ่งของกระบวนการทางการเงินในลักษณะของการขายสินทรัพย์ที่ “ผู้ขายฝาก” เป็นเจ้าของเองขายให้กับ “ผู้รับซื้อฝาก” โดยจะมีการทำสัญญาข้อตกลงระบุเงื่อนไขสำหรับไถ่ถอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด (ไม่เกินระยะเวลาที่กฎหมายระบุไว้) ทั้งนี้กรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์นั้น ๆ จะเป็นของผู้รับซื้อฝากทันทีจนกว่าจะมีการไถ่ถอนคืน
สินทรัพย์ที่สามารถขายฝากได้ มีอะไรบ้าง
สินทรัพย์ทุกประเภทที่ผู้ขายฝากเป็นเจ้าของสามารถนำมาขายฝากได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน ไร่นา โกดัง โรงงาน คอนโด อาคารพาณิชย์ ยานพาหนะ ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ มือถือ ฯลฯ อย่างไรก็ตามมีเงื่อนไขเกี่ยวกับแบบสัญญาขายฝากตามประเภทของสินทรัพย์แตกต่างกันออกไป โดยสรุปง่าย ๆ ดังนี้
- การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ (สินทรัพย์เคลื่อนที่ไม่ได้) หากเป็นกลุ่มที่ดินต้องทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากกับเจ้าพนักงานที่ดิน หากเป็นที่อยู่อาศัยต้องทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝาก ณ ที่ว่าการอำเภอของอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ หากไม่ปฏิบัติตามนี้สัญญาจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย
- การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ (สินทรัพย์เคลื่อนที่ได้ และมีการกำหนดไว้เป็นพิเศษต้องทำสัญญาและจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่) เช่น เรือ ต้องทำสัญญาและจดทะเบียนที่กรมเจ้าท่า สัตว์พาหนะหรือแพต้องทำสัญญาและจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หากไม่ทำตามนี้สัญญาจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย
- การขายฝากสังหาริมทรัพย์ธรรมดา หรือสินทรัพย์ทั่วไป (สินทรัพย์เคลื่อนที่ได้ ยกเว้นเรือ แพ สัตว์พาหนะ) หากมีราคาตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ต้องมีการทำหนังสือหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรโดยผู้ขายฝากและผู้รับซื้อฝากลงลายมือชื่อของตนเองเอาไว้ในเอกสารดังกล่าว หรืออาจมีการวางมัดจำ การชำระหนี้บางส่วน หากไม่ทำตามนี้สัญญาจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย
ระยะเวลาของการไถ่ถอนสินทรัพย์จากการขายฝาก
- สินทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด ไร่นา ฯลฯ มีระยะเวลากำหนดไถ่ถอนได้ไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการทำธุรกรรมขายฝาก แม้ไม่ได้มีการระบุระยะเวลาชัดเจนเอาไว้ หรือกำหนดเอาไว้เกิน 10 ปี แต่กฎหมายจะให้เวลาเพียง 10 ปี เท่านั้น
- สินทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ และสังหาริมทรัพย์ (สินทรัพย์ทั่วไปอื่น ๆ) มีระยะเวลากำหนดไถ่ถอนได้ไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการทำธุรกรรมขายฝาก แม้ไม่ได้มีการระบุระยะเวลาชัดเจนเอาไว้ หรือกำหนดเอาไว้เกิน 3 ปี แต่กฎหมายจะให้เวลาเพียง 3 ปี เท่านั้น
ข้อดีของการขายฝาก (ผู้ขายฝาก)
- ผู้ขายฝากได้เงินก้อนจากการนำเอาสินทรัพย์นั้น ๆ ไปขายทันทีภายในเวลาอันรวดเร็วเมื่อเทียบกับการต้องกู้เงินธนาคาร และยังมีโอกาสในการไถ่ถอนสินทรัพย์ดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของตนเองภายในระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้
- วงเงินที่ผู้ขายฝากจะได้รับมีมูลค่าสูงประมาณ 40-70% ของราคาประเมินสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ
- ไม่ติดปัญหาเรื่องการเช็กเครดิตบูโร เช็กแบล็กลิสต์ และไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน
ข้อเสียของการขายฝาก
จะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการโดยเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนขายฝากในอัตรา 2% ของราคาประเมินสินทรัพย์ หากผู้ขายฝากถือครองอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ถึง 5 ปี ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% หรือ ค่าอากรแสตมป์อัตรา 0.5% ของราคาประเมิน หรือราคาขายฝาก ขึ้นอยู่กับราคาใดสูงกว่ากัน (หากเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์) และยังมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามราคาประเมินในอัตราที่กรมสรรพากรกำหนดด้วย
ข้อเสียอีกเรื่องคือกรณีเจอผู้รับซื้อฝากที่ต่อรองยาก เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนคืนแต่ผู้ขายฝากอยากขอยื่นเวลาออกไปอีกซึ่งยังคงอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อาจทำได้ยากและมีสิทธิ์เสียสินทรัพย์นั้นได้ทันที
สรุป
การขายฝากเป็นอีกรูปแบบการทำธุรกรรมที่ผู้ขายฝากนำเอาสินทรัพย์ของตนเองไปขายฝากไว้กับผู้รับซื้อฝาก โดยจะมีระยะเวลาไถ่ถอนคืนไม่เกินที่กฎหมายกำหนด แต่ระหว่างนั้นกรรมสิทธิ์ต้องตกเป็นของผู้รับซื้อฝาก โดยผู้ขายฝากจะได้วงเงินสูง ดำเนินการรวดเร็ว แต่ต้องทำสัญญาและจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้เพื่อให้สัญญาบังคับใช้งานได้